เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
อนุสัย1หม่อมฉันทั้งหลายก็ตัดได้แล้ว
ปุญญาภิสังขาร หม่อมฉันทั้งหลายก็ทำลายได้แล้ว
[19] หม่อมฉันทั้งปวงมีสมาธิเป็นอารมณ์
ชำนาญในสมาบัติเช่นกัน จักอยู่ด้วยฌาน
และความยินดีในธรรมทุกเมื่อ
[20] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำตัณหาที่นำไปสู่ภพ
อวิชชา และแม้สังขารให้สิ้นไปแล้ว
ตามไปรู้แจ้งซึ่งบทที่รู้ได้แสนยาก
[21] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ‘เธอทั้งหลายมีอุปการะแก่เรา
ผู้เดินทางไกลมาตลอดกาลนาน
จงตัดความสงสัยของบริษัท 4 แล้วทั้งหมดจงนิพพานเถิด’
[22] พระเถรีเหล่านั้น กราบพระยุคลบาทของพระมุนีแล้ว
แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ บางพวกแสดงแสงสว่าง
บางพวกแสดงความมืด บางพวกแสดงอย่างอื่น
[23] บางพวกแสดงดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
และทะเลพร้อมด้วยปลา บางพวกแสดงภูเขาสิเนรุ
ภูเขาสัตตบริภัณฑ์และต้นปาริฉัตตกะ
[24] บางพวกแสดงภพดาวดึงส์
ยามาเทวโลกด้วยฤทธิ์
บางพวกเนรมิตตนเป็นเทวดาชั้นดุสิต
เป็นเทวดาชั้นนิมมานรดี
เป็นเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 อนุสัย ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ สภาพที่ปรุงแต่งคือบุญ (ดูเทียบ ที.ปา. (แปล)
11/305/268)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :522 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [4. ขัตติยกัญญาวรรค] 2. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[25] บางพวกแสดงตนเป็นพรหม
บางพวกเนรมิตที่จงกรมมีค่ามาก
และเพศพระพรหม แสดงสุญญตธรรม1อยู่
[26] พระเถรีทั้งปวง ครั้นแสดงอิทธิฤทธิ์มีประการต่าง ๆ
แล้วก็แสดงพลังถวายพระศาสดา
ได้กราบพระยุคลบาทของพระศาสดา พลางกราบทูลว่า
[27] ‘ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[28] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[29] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลาย
เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[30] ความพร้อมเพรียงแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
พระองค์ทรงแสดงแล้ว
ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉันทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[31] ข้าแต่พระมหาวีระผู้เป็นพระมุนี
ขอพระองค์ทรงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันทั้งหลายเถิด
หม่อมฉันทั้งหลายสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

เชิงอรรถ :
1 สุญญตธรรม ในที่นี้หมายถึงฌาน (อภิ.วิ. (แปล) 35/323/214,385,245)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :523 }